มรดกที่ได้รับ

พระธาตุเมืองคอน’มรดกไทย มรดกพุทธ มรดกโลก’

พระธาตุเมืองคอน’มรดกไทย มรดกพุทธ มรดกโลก’ : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องโดยสุพิชฌาย์ รัตนะ ศูนยข่าวภาคใต้ , ภาพศูนย์ภาพเนชั่น

“เกิดมาชาติหนึ่งขอได้กราบพระบรมธาตุเมืองคอน” เป็นวลีที่กู่ก้องดังกังวาลจากบรรพชนสืบจนมาถึงลูกหลานชาวพุทธในดินแดนสยามประเทศ ที่ผ่านกาลเวลามายาวนานนับร้อยๆ ปี ก็ยังมิได้เสื่อมคลายในแรงศรัทธาของบรรดาสาธุชนจากทั่วทุกสารทิศที่ช่วงลมหายใจในชีวิตจะต้องมาสักการะและนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ให้ได้สักครั้งประวัติและความเป็นมาอีกทั้งความสำคัญที่เปรียบดั่งศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ จึงมิได้มีเพียงชาวพุทธในประเทศเท่านั้นที่เดินทางมายังสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติที่เลื่อมใสศรัทธาหลั่งไหลเดินทางมามิได้ขาดสายเช่นเดียวกัน

วันนี้ “พระธาตุเมืองคอน” กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั้งชาติ เมื่อกำลังได้รับการผลักดันเข้าสู่เส้นทาง “มรดกโลก” นับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเสนอองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เข้ารับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ในนามของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕

“วิโรจน์ จิวะรังสรรค์” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรมราช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่วันที่ ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ขึ้นบัญชีเบื้องต้น หรือบัญชีชั่วคราว เพื่อเสนอเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพราะมีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา ๓ ใน ๑๐ ข้อ ประกอบด้วย

ประการแรกคือ มีโครงสร้างต่างๆ สะท้อนถึงอดีต เช่นงานสถาปัตยกรรม ผลงานที่เป็นอนุสรณ์ในเชิงจิตรกรรม หรือประติมากรรม โครงสร้างทางธรรมชาติที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีหรือลักษณะอื่นๆ ซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญในระดับสากลทางประวัติศาสตร์ ศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กรณีที่พระบรมธาตุเจดีย์เป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์

ประการที่ ๒ คือ เป็นอาคารที่มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือลักษณะทางภูมิสถาปัตย์ ที่มีคุณค่าหรือความสำคัญในระดับสากลไม่ว่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ พระบรมธาตุเจดีย์อยู่ในวิหารพระม้า(พระทรงม้า) ที่ผนังมีภาพปูนปั้น “มหาภิเนษกรมณ์” หรือเจ้าชายสิทธัตถะพิจารณาละชีวิตคฤหัสถ์ ภาพพระนางพิมพาบรรทมกับราหุลกุมาร ลวดลายปิดทองวิจิตรสวยงาม ได้รับการบูรณะในยุคกรุงศรีอยุทธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

ตรงบันไดทางขึ้นลานประทักษิณมีเหล่าภาพยนตร์ผู้ปกปักรักษาพระบรมธาตุ เป็นยักษ์ ครุฑ นาค และสิงห์ เชิงบันได้เป็นรูปปูนปั้นเทวดารักษาพระบรมธาตุ ๒ องค์ ด้านตะวันออกคือท้าวขัตตุคาม ด้านตะวันตกคือ ท้าวรามเทพ ประตูไม้แกะสลักบานใหญ่ ด้านตะวันออกคือพระพรหม ด้านตะวันตกคือพระนารายณ์

ลานประทักษิณ คือลานวงกลมรอบฐานพระบรมธาตุล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตรงหัวมุมทั้ง ๔ ทิศ ชื่อ รัตนเจดีย์ ฐานเจดีย์ (ปากระฆังคว่ำ) เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๑.๙๘ เมตร เมื่อก่อนอนุญาตให้ขึ้นเฉพาะผู้ทรงศีลและช่วงเทศกาลสำคัญปัจจุบันเปิดให้ชาวพุทธขึ้นไปกราบไหว้แห่ผ้าเวียนรอบองค์พระเจดีย์

วิหารทับเกษตร หรือระเบียงตีนธาตุ (ทิพคีรี) คือวิหารคลุมรอบฐานพระบรมธาตุ งามวิจิตรด้วยงานปูนปั้นศิลปะทราวดี ลพบุรี สุขทัย และอยุธยา ผนังโดยรอบมีซุ้มช้างโผล่หัวในซุ้มด้านละ ๖ ตัว สลับกับพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยในซุ้มเรือนแก้วด้านละ ๗ องค์ไม่ซ้ำแบบ เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๒ โดยองค์พระบรมธาตุเจดีย์ล้อมรอบด้วยพระมหาธาตุเจดีย์ ๑๕๘ องค์ และประการสุดท้ายคือ พระบรมธาตุมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ ความคิด หรือความเชื่อที่มีความสำคัญ และมีชื่อเสียงในระดับสากล

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรมราช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกแล้ว ๕ แห่ง ดังนั้นเมื่อศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกได้ประกาศรับรองให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นบัญชีเบื้องต้น หรือบัญชีชั่วคราว  นั่นเท่ากับว่า “พระธาตุเมืองคอน” กำลังก้าวสู่เส้นทางการเป็นว่าที่มรดกโลกลำดับที่ ๖ ของไทยนั่นเอง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๗ กรุงพนมเปญ ซึ่งประเทศกัมพูชา มีมติเอกฉันท์ ๒๑ เสียง พิจารณารับรองวาระ ๘ A ในการเสนอชื่อวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นตามที่ประเทศไทยนำเสนอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกในขั้นตอนต่อไป

ภารกิจลำดับจากนี้ไปของคณะกรรมการจังหวัดคือการจัดทำ “แฟ้มข้อมูล”(Nomination dossier) เพื่อนำเสนอคุณสมบัติอันโดดเด่นของพระบรมธาตุเจดีย์ แล้วส่งให้สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) และสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) ตรวจสอบให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูล ก่อนยื่นเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๓๘ หรือสมัยที่ ๓๙ระหว่างปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
อยากได้ลูกให้ขอ”พระพวยพระแอด”

ถนนทุกสายสำหรับชาวพุทธที่มุ่งหน้ามาสักการะพระธาตุเมืองคอนเพื่อเป็นสิริมงคลให้ลมหายใจในชีวิตหนึ่งแล้ว ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่ ๓ องค์ คือ ๑.พระพวย ๒.พระแอด และ ๓.พระเจ้าศรีธรรมโศกราช

โดยเฉพาะเลื่องลือในเรื่องการบนบานศาลกล่าวเรื่องขอลูก ซึ่งเห็นได้จากภาพถ่ายหลายพันใบที่ผู้สมประสงค์ในคำอธิษฐานที่ผู้เป็นพ่อ และแม่ที่สมประสงค์ทุกรายในคำขอต่างอัดมามาวางไว้บริเวณฐานของพระทั้ง ๓ องค์ โดยเฉพาะ “พระพวย” มีรูปถ่ายของเด็กๆ จากทั่วสารทิศเก็บใส่อัลบัมชนิดตู้ไม่พอเก็บ

“พระพวย” เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับยืนปางประทานอภัย สมัยอยุธยา ที่ฐานบัวมีรูน้ำไหล เหมือนพวยกา ตามประวัติเล่ากันว่า แม่ชีที่ได้บรรลุธรรม เมื่อมรณภาพแล้วได้เผาเหลือแต่นม ซึ่งเป็นนมเหล็ก ดังนั้นวัดได้เอานมเหล็กมาบรรจุในพระพวย ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระพวย” เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโมคลาน อ.ท่าศาลา ต่อมาย้ายมาอู่ที่วัดประตูลัก ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้อัญเชิญมาไว้ที่วิหารโพธิ์ลังกา วัดพระมหาธาตุ

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธาพระพวยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะครอบครัวไหนที่มีบุตรยาก ไม่เฉพาะคนในพุทธศาสนาเท่านั้น คนในศาสนาอื่นๆ ก็มาบนบานศาลกล่าวเพื่อขอลูก และคำตอบที่ยืนยันถึงผลสัมฤทธิ์ในความต้องการของสามีภรรยาทุกคู่คือ “ภาพถ่าย” ของเหล่าทารกจำนวนมาก จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่ถูกนำมาวางไว้ที่บริเวณฐานของพระพุทธรูปองค์นี้

ภาพถ่ายมากกว่าก่ายกองมีตั้งแต่ยุคขาวดำมาจนถึงภาพสี คือ หลักฐานที่ยืนยันถึงสิ่งที่ “ผู้ขอ” ได้รับ และนำกลับมาเพื่อ “แก้บน” ต่อ ”พระพวย” จนเกิดเป็นตำนานกล่าวขานในปัจจุบันนี้ว่าภาพถ่ายทั้งเด็กหญิงและชายจำนวนมหาศาลที่ได้เห็นล้วนเป็น “บุตร” แห่ง “พระพวย” ทั้งสิ้น

อ้างอิง:http://www.komchadluek.net/detail/20130628/162101/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html

ใส่ความเห็น